20 เมษายน 2025

ประวัติความเป็นมาและที่ตั้ง

กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (อังกฤษ: Department of Learning Encouragement, DOLE) หรือย่อว่า สกร. เป็นส่วนราชการระดับกรม ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่หน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในประเทศไทย ยกฐานะมาจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เดิมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2483 เป็นกองการศึกษาผู้ใหญ่ และจัดตั้งเป็นกรมครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2522 ในชื่อ “กรมการศึกษานอกโรงเรียน” หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่า “กศน.”[3]

ประวัติ

ยุคที่1 กองการศึกษาผู้ใหญ่

การศึกษาผู้ใหญ่ เริ่มมีอย่างเป็นทางการในปี 2483 โดยรัฐบาลในขณะนั้น ได้ให้มีการจัดตั้ง “กองการศึกษาผู้ใหญ่” สังกัด สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรับผิดชอบงานการศึกษาผู้ใหญ่โดยตรง และได้ริเริ่มโครงการรณรงค์การรู้หนังสือทั่วประเทศ พร้อมกับประกาศใช้กฎหมายบังคับให้ประชาชนผู้ไม่รู้หนังสือที่มีอายุระหว่าง 20 ถึง 45 ปี เสียค่าเล่าเรียนเป็นรายปี จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้รู้หนังสือแล้ว ซึ่งโครงการรณรงค์ดังกล่าวประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2

ยุคที่2 กรมการศึกษานอกโรงเรียน

ต่อมา ได้มีการขยายโอกาสการศึกษาผู้ใหญ่อย่างกว้างขวางในช่วงปี 2513-2523 รัฐบาลจึงได้ยกฐานะกองการศึกษาผู้ใหญ่ ขึ้นเป็น “กรมการศึกษานอกโรงเรียน” ขึ้น เพื่อจัดการศึกษานอกโรงเรียนสำหรับประชาชนในวันที่ 24 มีนาคม 2522[4]

ยุคที่3 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการปฏิรูประบบราชการ และมีการยุบรวมกรมต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการจากเดิม 14 กรม เหลือเพียง 5 สำนักงาน ทำให้ กรมการศึกษานอกโรงเรียน ถูกยุบรวมเป็นสำนักงานบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พุทธศักราช 2551 สำนักฯ จึงปรับภารกิจเป็น “สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย” (อังกฤษ: Office of the Non-Formal and Informal Education : NFE)

ยุคปัจจุบัน กรมส่งเสริมการเรียนรู้

กระทั่งวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2566 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 โดยมีสาระสำคัญคือการยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 และยกฐานะ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็น “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นไป 60 วันหรือตรงกับวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2566[5][6]

หน่วยงานในสังกัด

กรมส่งเสริมการเรียนรู้ แบ่งส่วนราชการในกรม ดังนี้

  • กลุ่มเลขานุการกรม
  • กลุ่มการคลังและสินทรัพย์
  • กลุ่มบริหารบุคคลและนิติการ
  • กลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา
  • กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย
  • กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน
  • กลุ่มเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ
  • กลุ่มพัฒนาระบบการทดสอบ
  • กลุ่มตรวจสอบภายใน
  • กลุ่มพัฒนาระบบริหาร
  • ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา
  • สถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา
  • ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลอง เอกมัย)
  • สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด/กรุงเทพมหานคร (77 แห่ง)
    • ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอ/เขต (928 แห่ง)
      • ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ตำบล/แขวง (7,435 แห่ง)
      • ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (792 แห่ง)
      • ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยมอแกน
  • ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายพิเศษ
  • ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง)
  • ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต
  • สถาบันส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้
  • สถาบันการศึกษาทางไกล
  • สถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร
  • สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาค 5 ภาค (เหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ, กลาง, ตะวันออก, ใต้)
  • ศูนย์วงเดือน อาคมสุรทัณฑ์
  • ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
  • ศูนย์ฝึกวิชาชีพจังหวัดกาญจนบุรี “สามสงฆ์ทรงพระคุณ”
  • ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน (ศฝช.) (จังหวัดชุมพร เชียงราย ปัตตานี มุกดาหาร สระแก้ว สุรินทร์ อุตรดิตถ์)
  • ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (16 จังหวัด) (กาญจนบุรี ขอนแก่น ตรัง พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ ลำปาง สระแก้ว สมุทรสาคร ยะลา อุบลราชธานี)
  • ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษา จังหวัดร้อยเอ็ด
  • อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

อ้างอิง

  1.  กรมส่งเสริมการเรียนรู้, บุคลากร – กรมส่งเสริมการเรียนรู้, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2567
  2.  ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๗๒, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  3.  เปลี่ยนผ่าน ‘กศน.’ สู่ ‘กรมส่งเสริมการเรียนรู้’ มีหน้าที่อะไรบ้าง
  4.  ประวัติความเป็นมากรมการศึกษานอกโรงเรียน nfe.go.th ผ่านทาง web.archive.org สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน พ.ศ. 2563
  5.  ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ยกระดับ กศน.เป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้
  6.  พระราชบัญญัติการส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. ๒๕๖๖