20 เมษายน 2025

ขยะรักษ์โลก

ฐานการเรียนรู้ขยะรักษ์โลก
การจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

สาระสำคัญ

ปัจจุบันมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้น ซึ่งมาจากการดำรงชีวิตของคนในชุมชน และการท่องเที่ยว จึงเป็นภาระหนักของคนในชุมชน ในการบริหารจัดการกำจัดขยะเหล่านั้น ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นมากมายทุกวัน ส่งผลให้มีขยะตกค้างเป็นจำนวนมากในแต่ละวันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสภาพความเป็นอยู่ในชุมชนมากมาย ได้แก่ บ้านเมืองสกปรกไม่น่ามอง เสียทัศนียภาพ ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ และพาหนะนำโรคต่าง ๆ เช่น หนู แมลงสาบแมลงวัน ทั้งยังเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคโดยตรง เช่น อหิวาตกโรค อุจจาระร่วง บิด โรคผิวหนัง บาดทะยัก โรคทางเดินหายใจเกิดการปนเปื้อนของสารพิษ เช่น ตะกั่ว ปรอท ลงสู่พื้นดิน และแหล่งน้ำ แหล่งน้ำเน่าเสีย ท่อระบายน้ำอุดตัน อันเป็นสาเหตุของปัญหาน้ำท่วม เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละออง เขม่า ควัน จากการเผาขยะ และเกิดก๊าซมีเทนจากการฝังกลบขยะ และขยะบางชนิดไม่ย่อยสลาย และกำจัดได้ยาก เช่น โฟม พลาสติก ทำให้ตกค้างสู่สิ่งแวดล้อมในปีที่ผ่านมา กศน.อำเภอแม่ลาว ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในแต่ละตำบล ให้ความรู้เบื้องต้น ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะล้นชุมชน และไม่มีที่กำจัดขยะ โดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน ในการบริหารจัดการขยะโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนสร้างจิตสำนึกต่อการรักษ์บ้านเกิดของคนในชุมชน นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะมูลฝอยในครัวเรือนไม่ให้ออกไปสู่ชุมชน ยังเป็นการลดปริมาณขยะที่นำไปกำจัดโดยการเผาและฝังกลบได้ ทำให้ช่วยลด สภาวะเรือนกระจก (Green House Effect) ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น ตามมา หรือเรียกว่า ภาวะโลกร้อน (Globel Warmming) นั้น

ขยะหรือขยะมูลฝอย ( Refuse or Solid Waste )

       หมายถึง เศษสิ่งเหลือใช้และสิ่งปฏิกูลต่างๆ ซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และสัตว์ รวมถึงสิ่งอื่นใดที่เก็บกวาดจากถนน ตลาด การเจริญเติบโตของชุมชนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการผลิตสินค้า หรือที่อื่นๆ ทั้งจาก การผลิต การบริโภค ขยะมูลฝอย เป็นปัญหาวิกฤตที่แสดงความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัยของประชาชน ประเภทของขยะมูลฝอยแบ่งเป็น  4 ประเภท

       1. ขยะมูลฝอยที่ย่อยสลายได้

      เป็นขยะที่มาจากธรรมชาติหรือสิ่งมีชีวิต สามารถย่อยสลายได้ง่ายโดยกระบวนการทางธรรมชาติ  เช่น เศษอาหาร ผักผลไม้ ซากพืช ซากสัตว์ ใบไม้ เป็นต้น

       2. ขยะทั่วไป

           เป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยาก ไม่คุ้มค่าในการนำไปใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เปลือกลูกอม ถุงขนม ถุงพลาสติกปนเปื้อนอาหาร โฟมเปื้อนอาหาร ฟอล์ยเปื้อนอาหาร เป็นต้น

   3. ขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (รีไซเคิล)

     เป็นขยะของเสียบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุเหลือใช้ ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ หรือ รีไซเคิลได้  เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะและกล่องเครื่องดื่ม เป็นต้น

        4. ขยะอันตราย       เป็นขยะที่มีการปนเปื้อนของสารพิษต้องเก็บรวบรวมแล้วนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เช่น กระป๋องยาฆ่าแมลง ถ่านไฟฉาย กระป๋องบรรจุสี แบตเตอรี่ หลอดไฟหมดอายุ น้ำยาล้างเล็บ น้ำยาย้อมผม น้ำมันเครื่อง น้ำยาทำความสะอาดสุขภัณฑ์ เป็นต้น