ฐานการเรียนรู้ โรงเล่นเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ยิ่งมีอิสระให้เล่น ยิ่งเห็นการเรียนรู้ ที่ โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้
สนามเด็กเล่นของเด็กแต่ละคนอาจมีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่าง แต่สิ่งที่ไม่ต่าง คือ ความรู้สึกสนุกที่เกิดจาก ‘การเล่น’ แน่นอนว่าสนามเด็กเล่นของเด็กในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บางแห่งก็มีวิสัยทัศน์ไปไกลกว่าแค่เครื่องมือให้ได้สนุกกับการเล่น แต่เป็นเครื่องมือให้ได้สนุกกับ ‘การเรียนรู้’
‘โรงเล่น พิพิธิภัณฑ์เล่นได้’ คือ พื้นที่แห่งการเล่นขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ ตั้งอยู่ในอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งอัดแน่นไปด้วยความสนุก เพราะมาจากความตั้งใจของ ปุ๊-วีรวัฒน์ กังวานนวกุล ที่เชื่อว่าการเล่นก็เป็นการเรียนรู้ได้ โดยมี จิ๋ว-วีรวรรณ กังวานนวกุล มาช่วยดูแลพื้นที่นี้ให้เป็นไปตามความเชื่อของปุ๊ ในฐานะนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้
ก่อนจะมาเป็นโรงเล่น พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นพิพิธภัณฑ์เล่นได้ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านที่ชักชวนกันมาทำของเล่นที่ตัวเองเคยเล่นเพื่อสะสมไว้ พอโยกย้ายมาจากที่เดิมในบริเวณด้านหน้าวัดป่าแดดมาอยู่ที่นี่ ปุ๊มองว่าเป็นแค่พิพิธภัณฑ์ยังไม่พอ แต่ต้องทำให้ของเล่นเหล่านี้มีชีวิตขึ้นมา จึงขยับขยายไอเดียและต่อยอดจนกลายมาเป็น ‘โรงเล่น’ ที่เชื่อว่าของเล่นยุคเก่ากับการเรียนรู้ยุคใหม่สามารถผสมผสานกันได้ และช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยในพื้นที่ด้วย
ในพื้นที่ของโรงเล่น มีทั้งพื้นที่ให้เล่นแบบไม่ต้องพึ่งพาสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นบ่อทรายกลางแจ้งที่ให้ทุกคนได้ลองไปขลุกตัวเล่นสนุก พื้นที่ปีนป่าย ลานสนามกว้างโล่งพร้อมให้ทุกคนวิ่งเล่น รวมไปถึงพื้นที่ให้หยิบจับของมาเล่น ทั้งของเล่นภูมิปัญญาชาวบ้าน ของเล่นไม้ หรือหนังสือนิทาน แถมด้วยมุมเมกเกอร์สเปซเล็กๆ ให้เด็กได้ลองคิด ได้ลองสร้างของเล่นตามจินตนาการแบบไม่มีกรอบกำหนด โดยทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นมีแนวคิดว่า ‘การเล่นเท่ากับการเรียนรู้’ เสมอ
โรงเล่น เป็นพื้นที่สำหรับใครก็ตามที่ไม่จำเป็นต้องเป็นวัยเด็ก แต่มีหัวใจที่สนใจเรื่องการเรียนรู้ การเล่น การศึกษา ทุนทางสังคม และเครื่องมือชุมชน เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่เพื่อความหลากหลายและพร้อมโอบรับทุกคนให้ได้มาทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
สาระสังเขป
เนื่องจากพิพิธภัณฑ์เล่นได้ ที่ตั้งอยู่หน้าวัดป่าแดด มีเหตุจำเป็นบางประการต้องปิดตัวลงในสถานที่ทำการเดิม คณะผู้ก่อตั้งนำโดยคุณวีรวัฒน์ กังวานนวกุล ได้หาพื้นที่ใหม่ที่ไม่ไกลจากที่เดิม และได้ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ในชื่อใหม่ที่เรียกว่า “โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้” แต่ยังคงแนวคิดเดิมคือการเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ผ่านของเล่นที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ และของเล่นพื้นบ้านที่ผลิตโดยผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ด้วยเชื่อว่า ของเล่นสร้างการเรียนรู้ได้ และการเล่นทำให้เกิดการค้นพบ โดยนำบทเรียนจากการทำงานในพิพิธภัณฑ์เล่นได้กว่าสิบปี มาปรับรูปแบบใหม่เป็นโรงเล่น มีสามเรื่องที่สนใจคือ “สร้างพื้นที่เล่น รักษาของเล่นเก่า และพัฒนาของใหม่” ซึ่งโจทย์ใหม่ในการทำงาน จากทีมงานรุ่นใหม่ในนาม “young maker” ที่ต้องการนำความรู้ด้านการประดิษฐ์และงานกลไกที่สนใจ มาพัฒนาต่อยอด ทำให้ของเล่นที่คุ้นเคยแบบเดิมมีชีวิตชีวา และตื่นตาตื่นใจมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ของเล่นอยู่ได้ยั่งยืน ไม่สูญหายไปพร้อมคนเฒ่าคนแก่ โรงเล่นยังจัดกิจกรรมเวิร์คช้อปหลากหลายผ่านการเล่น และการประดิษฐ์ของเล่น
ข้อมูล : The KOMMON